เลี้ยงลูกอย่างสุขใจด้วย….วินัยเชิงบวก

เลี้ยงลูกอย่างสุขใจด้วย….วินัยเชิงบวก

วินัย   เรื่องสำคัญของชีวิต
วินัย   เป็นสิ่งที่ต้องฝึก
วินัย   ต้องมีวิธีฝึก

หลายครั้งที่พ่อแม่ไม่แน่ใจว่า  การสอน การฝึกวินัยลูกของตน ถูกต้องหรือไม่
หลายครั้ง ดูเหมือนสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ได้ผล

เพื่อให้ผู้ปกครอง มั่นใจมากขึ้นในการฝึกวินัยลูก
ฝ่ายวิชาชีวิตผู้ปกครอง จึงจัดอบรมในหัวข้อ “เลี้ยงลูกอย่างสุขใจด้วย ….วินัยเชิงบวก”  โดย ได้รับเกียรติจาก ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร(คุณครูใหม่)  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสมองและศักยภาพเด็กด้วยวินัยเชิงบวก “วันโอวัน เอ็ดดูแคร์เซ็นเตอร์” มาเป็นวิทยากรพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อให้เข้าใจ การฝึกวินัยเชิงบวก  มีวิธีการจัดการอารมณ์และพฤติกรรมของลูกอย่างถูกต้องเหมาะสม

….สมอง ๓ ส่วน ลูกฉันใช้ส่วนไหน…
คุณครูใหม่อธิบายว่าการจะเข้าใจพฤติกรรมของลูก พ่อแม่จะต้องเข้าใจถึงการทำงานของสมองที่อยู่เบื้องหลังของพฤติกรรมเหล่านั้นก่อน โดยสมองแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ
๑.สมองส่วนสัญชาตญาณ ทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอดของชีวิต  ทำงานอัตโนมัติโดยไม่ต้องสั่งการ เช่น การหายใจ หัวใจเต้น สมองส่วนนี้ทำงานเต็มที่ตั้งแต่แรกเกิด
๒.สมองส่วนอารมณ์ มีหน้าที่เรียนรู้และจดจำ เมื่อมีข้อมูลสมองจะบอกทันทีว่า ชอบ/ไม่ชอบ แล้วจะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมทันที ซึ่งทำงานเต็มที่เมื่อแรกเกิดเช่นกัน
๓.สมองส่วนเหตุผล ทำงานโดยการประมวลประสบการณ์เดิมกับสถานการณ์ปัจจุบันเข้าด้วยกัน เพื่อคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหาและควบคุมอารมณ์ แล้วแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมเพื่อให้ถึงเป้าหมาย สมองส่วนนี้ต้องได้รับการพัฒนาและจะเจริญเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ ๒๕ ปี

ทำอย่างไรเมื่อลูกแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม
-เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ให้พ่อแม่สังเกตว่าลูกกำลังใช้สมองส่วนไหน เพื่อจะได้นำมาจัดการกับพฤติกรรมของลูกได้อย่างถูกต้อง
-เมื่อพฤติกรรมของลูกมาจากสมองส่วนอารมณ์ แปลว่ายังไม่ได้ใช้ส่วนเหตุผลที่เพียงพอ
-เมื่อเด็กใช้สมองส่วนอารมณ์ ไม่ใช่เวลาสอน แต่คือเวลาปลอบ แล้วให้บอกอารมณ์กับลูก เช่น ลูกกำลังดีใจ เสียใจ เพราะการรู้จักชื่อและบอกอารมณ์นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกเข้าใจตนเอง
-อย่าปล่อยให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานซ้ำๆเพราะจะกลายเป็นนิสัยและเด็กจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพราะสมองส่วนเหตุผลไม่ทำงาน

สิ่งสำคัญของการสร้างวินัยเชิงบวก
-การชมที่มีคุณภาพ
ชม +พฤติกรรมเจาะจง+คุณลักษณะที่อธิบายพฤติกรรมนั้น เช่น “หนูเก่งมากเลยเก็บของเล่นก่อนแม่ทำกับข้าวเสร็จอีก”
ชมพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริง
ชมโดยไม่เปรียบเทียบ
-การสื่อสารกับลูก
บอกให้ลูกรู้ว่าลูกรู้สึกอย่างไร+จึงแสดงพฤติกรรมนั้นเช่น
“แม่รู้ว่าหนูเสียใจจึงร้องไห้เสียงดัง”
“ลูกเก่งมากที่บอกได้ว่าตัวเองโกรธ”
การพูดเช่นนี้บ่อยๆเด็กจะรู้จักอารมณ์ของตนเองและสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
-วัยรุ่นถ้าไม่ได้ฝึกการควบคุมอารมณ์ตนเองตั้งแต่เล็ก การควบคุมอารมณ์จะยากเพราะด้วยสรีระร่างกาย ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในวัยรุ่น  ทำให้วัยรุ่นมักยึดติดกับความคิดตนเอง และมีความสามารถในการควบคุมตนเองต่ำ
-อย่าใช้คำว่า “ทำไม”  ในการถามเด็ก ถ้าไม่ได้ต้องการคำตอบจริงๆ   เช่น “ทำไมถึงตอบแบบนั้น ทำไมต้องทำแบบนี้” เพราะการตั้งคำถามในลักษณะดังกล่าวนี้ อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจ และกลัวที่จะตอบ เพราะรู้สึกว่าโดนตำหนิ

“สั่ง”แบบนี้ไม่ดีแน่ จึงควรหลีกเลี่ยง
-ใช้คำพูด “ห้าม ไม่ อย่า หยุด”
เช่น อย่าวิ่ง
-ขู่เพื่อให้ทำ “ถ้าทานข้าวไม่เสร็จ ไม่ต้องไปเล่น จะปล่อยให้อยู่คนเดียวเลย”

“สอน”แบบนี้ซิ ใช่เลย
-ใช้คำขอบคุณ ตามด้วยพฤติกรรมที่เราต้องการ เช่น “ขอบคุณที่หนูหิวข้าวแล้วบอกแม่”
-ให้ทางเลือกและให้ลูกตัดสินใจ  โดยตัวเลือกนั้นต้องเป็นตัวเลือกที่พ่อแม่ยอมรับได้ เช่น “หนูจะทำการบ้านก่อนหรือหลังทานข้าว”
-บอกพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น “เล่นเสร็จแล้วไปล้างมือ”  “เดินลูกเดิน”
-บอกพฤติกรรมที่ต้องการให้เด็กทำ ตามด้วยสิ่งที่เด็กอยากทำ เช่น “ทำการบ้านเสร็จแล้วไปเล่นเลย”
-บอกความรู้สึกของเรา เพื่อให้ลูกมั่นใจและหยุดพฤติกรรมเรียกร้อง “ตอนนี้หนูกังวลว่าแม่จะไม่หายโกรธแต่เดี๋ยวแม่หายโกรธ”

เด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์คือเด็กที่รู้เท่าทันอารมณ์สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองและควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้

วินัยเชิงบวก  เป็นทักษะสำคัญที่สร้างได้โดยมีปัจจัยสำคัญ คือการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่และลูก  (trust) ต้องมีวิธีสอนที่ดี (teach) ต้องมีการฝึกอย่างสม่ำเสมอ (train) สำคัญคือ ต้องใช้เวลา (time) จึงจะทำให้ลูกมีพฤติกรรมที่เราต้องการได้

นำวินัยเชิงบวก ไปฝึกใช้กันสม่ำเสมอนะคะ   เพื่อให้ลูกร่วมมือสร้างวินัยในตนด้วยความสมัครใจ  ขอให้ทุกครอบครัว “มีความสุขใจด้วย .. วินัยเชิงบวก” ค่ะ