เรไรรายวัน สู่ คุณค่า ของการบันทึก

“เรไรรายวัน สู่ คุณค่า ของการบันทึก”

บันทึก..คือการทบทวน ทั้งตัวเราเอง และผู้อื่น
บันทึก..ไม่ใช่ความลับ แต่เป็นความประทับใจ

 

ส่วนหนึ่งจากการพูดคุยกับคุณแม่น้องเรไร (คุณแม่ชนิดา สุวีรานนท์) คุณแม่ผู้สนับสนุนให้ลูกสาวตัวน้อย เริ่มต้นลงมือเขียนบันทึกตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ ด้วยการเข้าร่วมโครงการสมุดบันทึกวัยเยาว์ จนพัฒนามาสู่เฟสบุ๊ก เพจ “เรไร รายวัน”

เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา
คุณแม่ได้ให้เกียรติมาร่วมพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์การพัฒนาการเขียนบันทึกของลูก ให้กับผู้ปกครอง และคุณครูโรงเรียนทอสีได้รับฟัง ใช้เวลา ๒ ช่วง คือ
เวลา ๑๓.๐๐-๑๕.๐๐ น.พูดคุยและตอบข้อซักถามกับผู้ปกครอง
เวลา ๑๖.๐๐-๑๗.๓๐ น.แลกเปลี่ยนประสบการณ์พร้อมทำ Workshop กับคุณครู

🎤 ในช่วงแรกของการพูดคุย..
คุณแม่เล่าว่า น้องเรไร เริ่มต้นการเขียนจากการ “เล่า” แล้วคุณแม่ก็จะชี้ชวนให้ “คิด” เพราะเมื่อ..คิดเป็น ก็จะ..เขียนเป็น เมื่อลูก..คิดเป็น ลูกก็จะรู้ความต้องการของตัวเอง รู้ว่าวันนี้อยากเขียนเรื่องอะไร
เพราะจริงๆ แล้ว..ทุกอย่างในชีวิตสามารถเอามาเขียนได้

“ฉันคิดว่า…ฉันรู้สึกว่า…ฉันนึกว่า…ฉันเห็นว่า…” จึงเป็นสิ่งที่น้องเรไรเขียนในบันทึกอยู่เป็นประจำ

💁🏻 คำแนะนำสำคัญจากคุณแม่
การชี้ชวน ฝึกให้ลูก”สังเกต” รู้จักการ “เปรียบเทียบ” สิ่งต่างๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ลงสู่การเขียน การจัดสภาพแวดล้อมก็เช่นกัน “ของเล่น” จะต้องไม่อยู่ในห้องเขียนหนังสือ เพราะฉะนั้น “การเล่น” ที่เต็มอิ่ม จะช่วยเติมเต็ม “การเขียน” เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเขียน ลูกก็จะไม่ห่วงเล่น เพราะเล่นมาจนเต็มที่แล้ว

📚 เพราะบันทึก..ไม่มีคะแนน..แต่มีค่า
เมื่อลูกเริ่มลงมือเขียน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรกังวลในเรื่องของตัวสะกด ไม่ควรหยุดความคิดของลูก ควรปล่อยให้ลูกเขียนจนเสร็จ แล้วค่อยหาเวลาแนะนำคำที่เขียนผิดภายหลัง เพื่อให้ลูกมีความมั่นใจ และอยากที่จะเขียนในวันต่อๆ ไป เพราะการจะให้ลูกอยากเขียนบันทึกเป็นประจำทุกวันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ง่าย แต่ถ้าลูกทำได้ ก็จะช่วยฝึกให้ลูกมีความ “อดทน”
ถ้าอยากเห็นลูกอดทน พ่อแม่ก็จะต้องอดทนให้ได้เสียก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูก

💁🏻 ในช่วงท้าย คุณแม่ของน้องเรไรได้ฝากเทคนิคการเขียนบันทึกไว้ 3 ขั้นตอน คือ
๑. ฝึกเขียน : เริ่มจาก “คำสำคัญ” แล้วค่อยจัดเรียงเป็นเรื่องราว
๒. สร้างตัวตน : ให้รู้จักคิด ด้วยความคิดของตนเอง ถ้าจะกล่าวถึงความคิดของผู้อื่นก็ให้อ้างถึง ไม่นำมาเขียนให้ดูเหมือนว่าเป็นความคิดของตัวเอง
๓. ไม่จำกัดช่วงเวลาของชีวิต : ในการเขียนไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับเวลา ขึ้นต้นเรื่องราวด้วยช่วงเวลาใดก็ได้

🎤 สำหรับการอบรมในช่วงของคุณครู นอกเหนือจากการเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องราวการเขียนบันทึกของน้องเรไรแล้ว คุณครูได้นำตัวอย่างบันทึกของเด็กๆ ทอสี ในแต่ละระดับชั้น มาให้คุณแม่ได้อ่านและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พร้อมกับ Workshop การเขียนบันทึก เรื่อง “ยากิโซบะ” อาหารมื้อกลางวันของโรงเรียน ที่ทุกคนในโรงเรียนได้รับประทานเหมือนๆ กัน แต่ถ่ายทอดออกมาเป็นบันทึกได้แตกต่างเพราะมาจากความคิดและความรู้สึกที่แตกต่างกัน
ก่อนจากกัน มีเสียงเรียกร้องจากคุณครูว่า บันทึกวันนี้ของน้องเรไร ขอเป็นเรื่อง “ยากิโซบะ” นะคะคุณแม่

🗒 เย็นวันนั้น เราก็ได้เห็นบันทึกของน้องเรไร จากเพจเรไรรายวัน เรื่อง “ยากิโซบะ” ซึ่งยังคงแสดงให้เห็นมุมมองเรื่องยากิโซบะ มื้อกลางวันที่ทอสี ได้อย่างน่ารัก และน่าสนใจแบบเรไรเช่นเคย

🙏 ขอบคุณภาพ “บันทึก วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ กรกฏาคม พ.ศ. ๒๕๖๐” จากเพจ “เรไร รายวัน”

🙏 ขอขอบคุณ คุณแม่เกด คุณแม่น้องมันดา ห้องดอกกล้วยไม้ ชั้นอนุบาล ๒ ที่ให้เกียรติมาเป็น พิธีกร ทำให้การพูดคุยในวันนี้ ได้สาระประโยชน์และความเบิกบานใจอย่างเต็มเปี่ยม

#ทอสี
#พุทธปัญญานำสมัย
#บ่มเพาะผู้ปกครอง
#บ่มเพาะครู