กุศลฉันทะ

ในการพัฒนาชีวิต การเรียนก็ดี การปฏิบัติธรรมก็ดี สิ่งที่เราขาดไม่ได้คือ “แรงบันดาลใจ”

แรงบันดาลในเป็นได้สองอย่างคือ แรงบันดาลใจที่ประกอบด้วยกิเลส กับแรงบันดาลใจที่ปลอดกิเลส
แรงบันดาลใจซึ่งประกอบด้วยกิเลสชื่อว่า ตัณหา คือความอยากที่เกิดจากอวิชชา มีความทะเยอะทะยาน ไม่สงบ ไม่ละอายเกรงกลัวต่อบาป แรงบันดาลใจที่ปลอดจากกิเลสคือ “กุศลฉันทะ” คือความอยากที่เกิดจากวิชชา จะไม่มีอาการกระสับกระส่าย หรือขาดหิริโอตัปปะเหมือนตัณหา

สิ่งท้าทายคือเราจะทำอย่างไรให้เกิดกุศลฉันทะใจใน โดยไม่มีตัณหา ?

ข้อสังเกตที่ง่ายที่สุดคือสังเกตจากสิ่งที่ต้องการ

ตัณหาต้องการผลของงาน คือความสุข หรือสิ่งที่จะเป็นเงื่อนไขของความสุข เช่น เงิน เป็นต้น ตัณหาจะมองข้ามความสุขในปัจจุบัน มุ่งแต่ผลงานในอนาคต

ส่วนฉันทะต้องการตัวงาน ตัวการกระทำให้ดีที่สุด ต้องการขัดเกลางานให้มีคุณภาพ มีความสุขทุกขณะที่ได้ทำงาน

การสร้างฉันทะในการเรียนให้เด็กนั้น เริ่มได้จากฉันทะของคุณครู ความกระตือรือร้น ความเพียรพยายามที่จะถ่ายทอดวิชาอย่างจริงใจ ไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรค ความสุขที่จะสื่อวิชาที่ตนรักให้กับลูกศิษย์ เมื่อเด็ก ๆ ได้สัมผัส ได้เห็นก็จะเกิดกำลังใจ เมื่อเห็นผู้ใหญ่รัก ชอบ กระตือรือร้นในสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมดีแน่

การชี้ชวนให้เด็ก ๆ เห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเราขาดฉันทะ เป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะให้กับเด็ก ๆ เพราะถ้าเขามีหลักในการปลูกฝังฉันทะในจิตใจ เวลาท้อแท้ ก็จะรู้จักแก้อารมณ์ตัวเองได้ แก้ความคิดตัวเองได้ ให้กำลังใจตัวเองได้ นั่นจะเป็นประโยชน์กับเขาตลอดชีวิต

ส่วนหนึ่งของธรรมบรรยายเรื่อง “กุศลฉันทะ” โดย พระราชพัชรมานิต ท่านเจ้าคุณอาจารย์ชยสาโร เมตตาเยือนโรงเรียนทอสี รับบาตรและนำคุณครูปฏิบัติธรรม ในกิจกรรม “ธรรมละนิด” เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๓