การอบรมพัฒนาครูและบุคลากร ช่วงปิดภาคเรียนที่ ๑/๒๕๖๐

ตลอดช่วงโรงเรียนปิดเทอม ในภาคการเรียนที่ ๑ คุณครูและบุคลากร โรงเรียนทอสีได้ใช้เวลาช่วงนี้ในการทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และอบรมพัฒนาเพื่อนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาการทำงาน ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งการอบรมในช่วงปิดเทอมนี้ มีทั้งการอบรมร่วมกันทั้งโรงเรียน และการอบรมกลุ่มย่อยในแต่ละระดับชั้นและสาระวิชา ทั้งจากวิทยากรภายใน และภายนอก ที่ต่างนำเทคนิค ความรู้ และแนวความคิดมาถ่ายทอดให้คุณครูอย่างเต็มที่

การสร้างวินัยเชิงบวก

หลังจากปิดภาคเรียนวันแรก คุณครูเริ่มต้นเข้ารับการอบรม “การสร้างวินัยเชิงบวก” โดย ดร. ปิยวลี ธนเศรษฐกร (ดร.ใหม่) การอบรมนี้เป็นครั้งที่ ๒ ต่อเนื่องจากการอบรมในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ ดร. ใหม่ได้นำความรู้ในเรื่องของ “สมอง” ซึ่งเป็น “ต้นกำเนิด” พัฒนาการของเด็ก

“สมอง” ของมนุษย์นั้นมี ๓ ส่วน คือ สัญชาตญาณ อารมณ์ และเหตุผล ดังนั้น ครูจะต้องเข้าใจการทำงานของสมองที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมต่างๆ มนุษย์เสียก่อน เพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละคนอย่างเหมาะสม

“อะไรที่ไม่ค่อยได้ใช้ สมองก็จะละทิ้งสิ่งนั้นไป แต่ถ้าใช้บ่อยๆ สมองก็จะเก็บสิ่งนั้นไว้ เหมือนกับเครื่องบิน ถ้าโหลดของหนักเกินไป สิ่งที่เราเลือกที่จะทิ้ง ก็คือของที่ไม่จำเป็นต้องใช้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเลือกใช้สมองส่วนอารมณ์บ่อยๆ ไม่ใช้เหตุผล เมื่อถึงเวลาที่ต้องเลือก เราก็มักจะละเลยในส่วนของเหตุผล และนำอารมณ์ขึ้นมาใช้แทน”

“สมอง.. จะทำงานจากประสบการณ์เดิมเท่านั้น ดังนั้นหากคุณครูหรือพ่อแม่ไม่เคยให้ความรับผิดชอบแก่ลูก ลูกกลายเป็นคนไม่รับผิดชอบก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะประสบการณ์เดิมของลูกนั้นไม่มี จึงเห็นได้ว่า..แท้จริงแล้วไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาแล้วเป็น “คนไม่ดี” แต่สิ่งที่ได้รับมาโดยตลอด เป็นตัวหล่อหลอมพฤติกรรมของ..เด็ก”

“การที่ครูให้เด็ก “ทบทวน” พฤติกรรมไม่ดีที่ทำลงไป แสดงถึงความที่ครูไม่ได้ตัดสินเด็กในครั้งแรก เพราะฉะนั้น ครู ไม่ควรตัดสินก่อนด้วย “คำพูด” ควรให้โอกาสเด็ก “คิด” เพื่อให้เด็กได้คิดจากข้างใน และคุณครูเป็นผู้รับฟัง”
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า บทบาทของครู และพ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อวินัยเชิงบวกของเด็ก และ “การรับฟัง” ก็คือสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างวินัยเชิงบวกให้กับเด็กได้ นอกจากนี้ยังมีเทคนิคและวิธีการสำคัญต่างๆ อีกมากมายที่ ดร. ใหม่ได้แนะนำให้กับคุณครูในวันนั้น เพื่อให้คุณครูนำไปปรับใช้สร้างห้องเรียนทอสี ให้เป็น “ห้องเรียน เชิงบวก” ที่ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

การศึกษาพุทธปัญญา และบทบาทของครูพุทธปัญญา

การอบรมหัวข้อ “การศึกษาพุทธปัญญา และบทบาทของครูพุทธปัญญา” นำทีมโดยครูแจ๊ด และครูเปา โรงเรียนปัญญาประทีป
เริ่มต้นโจทย์แรก ด้วยการพาคุณครูย้อนความทรงจำในสมัยที่ยังเป็นเด็กนักเรียนอนุบาลหรือประถม นึกถึงภาพของคุณครูที่สอนตอนเด็ก และสิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงวัยนั้น ครูแต่ละคน แต่ละช่วงวัย แต่ละภูมิภาค ต่างก็มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันก็คือ สิ่งที่หลงเหลือในความทรงจำ และถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีความสุข ภาพรวมที่สื่อออกมา ครูไม่ได้มองถึงเรื่องของวิชาการต่างๆ เช่น เลข อังกฤษ หรือวิทยาศาสตร์เลย ครูแต่ละคนจะถ่ายทอดความทรงจำ ถึงเรื่องราวของการทำกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียน การทำเวร การถูกทำโทษ พูดถึงเพื่อน และคุณครู ซึ่งก็คือภาพรวมของวิชาชีวิตที่คุณครูได้รับในสมัยเป็นเด็ก
โจทย์ที่ ๒ ทบทวนตนเองว่า สิ่งใดที่ในวัยเด็กคิดว่ายากและคงทำไม่ได้ แต่ในวันหนึ่งก็สามารถทำได้ ครูแบ่งกลุ่มช่วยกันสร้างโมเดล “กระบวนการไปสู่..ความสำเร็จ” แต่ละกลุ่มต่างนำเสนอเหตุการณ์ที่หลากหลาย แต่หลักการที่นำมาใช้กลับไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเรื่องของความเป็นกัลยาณมิตร การสร้างศรัทธา การนำอิทธิบาท ๔ (ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา) เข้ามาใช้เพื่อไปสู่..ความสำเร็จ
จากการชวนคิดชวนคุยตั้งแต่แรก เพื่อการมาสู่โจทย์สุดท้าย คือ การนำเอาโมเดลมาส่งต่อให้กับเด็กๆ ได้อย่างไร ครูที่มีความเป็นกัลยาณมิตรจะช่วยส่งเสริมให้เด็กเกิดอิทธิบาท ๔ ได้อย่างไร และมีสิ่งใดที่จะเป็นตัวดับอิทธิบาท ๔ ไม่ให้เกิดขึ้นกับเด็กได้บ้าง ครูจะใช้ความเป็น “กัลยาณมิตร” สร้าง “ฉันทะ” ให้เกิดขึ้นกับเด็กได้อย่างไร ซึ่งคุณครูแต่ละกลุ่มต่างนำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจ
ตลอดการอบรมในวันนั้น ทำให้ได้เห็นศักยภาพของเพื่อนร่วมงาน ได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยน หลักการ วิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมทั้งได้รับคำแนะนำ และตัวอย่างที่ดี ทั้งจากครูแจ๊ด และครูเปา เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำงาน รวมถึงแง่คิดที่ดีจากครูอ้อนที่ได้ฝากไว้ให้กับคุณครูทุกคน ที่จะต้องไม่ลืมว่า “ความเป็นกัลยาณมิตรกับ “ตัวเอง” นั้นเป็นก็สิ่งที่สำคัญ”

“วิมังสา : พฤติกรรมแบบใดที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับนักเรียนทอสี ในภาคเรียนที่ ๒”

ในวันต่อมา กับกิจกรรม “วิมังสา” ในครั้งนี้ได้นำข้อมูลวิมังสาจากปีที่ผ่านมา รวมถึงเสียงสะท้อนจากผู้ปกครอง เพื่อหาวิธีการมุ่งสู่เป้าหมาย “พฤติกรรมแบบใดที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับเด็กๆ ทอสี ในภาคเรียนที่ ๒” นำการอบรมโดยครูแหม่ม และแม่แจง ในการทำกิจกรรมในวันนั้นได้แบ่งกลุ่มคุณครูตามพฤติกรรมของเด็กที่ต้องการให้เกิดขึ้น ๕ แบบ
๑. มีวินัย รับผิดชอบ
๒. มีมารยาทงดงาม
๓. มีความยับยั้งชั่งใจ
๔. เป็นกัลยาณมิตรไม่แกล้ง รังแกกัน
๕. ไม่บริโภคนิยม
โดยให้ครูแต่ละกลุ่มนำกระบวนการวิเคราะห์พฤติกรรมจากการสังเกต เพื่อบ่งชี้ว่าทำไมเด็กมีพฤติกรรมแบบนั้น มองถึงสิ่งที่อยู่เบื้องลึก เบื้องหลัง (เหตุ) ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมนั้นๆ และในความที่เป็นครูพุทธปัญญาจะใช้วิธีการใดที่จะสร้าง “ฉันทะ” ให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมที่ต้องการได้บ้าง ซึ่งเทคนิควิธีการต่างๆ ที่ครูนำเสนอ เป็นสิ่งที่ถูกนำไปใช้ในห้องเรียนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้นกิจกรรมในวันนั้นจึงเป็นเพื่อการทบทวน แลกเปลี่ยน และทำให้ชัดเจนขึ้นในทุกๆ ระดับชั้น เป็นภาพรวมของทั้งโรงเรียน และพร้อมทำให้เกิดขึ้นได้จริงในภาคเรียนที่ ๒ นี้
พอถึงช่วงบ่าย เป็นเรื่องของ “การจัดการชั้นเรียน” คุณครูได้แปลงร่างเป็น “นักออกแบบ” เพื่อทำหน้าที่ออกแบบ “ห้องแห่งการเรียนรู้” ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากสำหรับการเป็นครู เพราะชีวิตการทำงานของครูแท้จริงนั้นต้องใช้การออกแบบที่หลากหลาย เช่น แผนการสอน ห้องเรียน ออกแบบคำพูด การนำเสนอ การแสดง ฯลฯ
ในการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม ครูแต่ละกลุ่มต้องออกแบบ “ห้องแห่งการเรียนรู้” โดยได้กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและตรงกันไว้ เช่น บรรยากาศดี สว่าง กระจ่าง สงบ ไม่ใช่ห้องที่มีไว้แค่การเรียน แต่ต้องใช้งานอื่นได้ด้วย ดังนั้น การออกแบบชั้นเรียน หรือ “ห้องแห่งการเรียนรู้” จะต้องมุ่งไปที่หลักการใช้งานได้จริง เกิดความสะดวก และเมื่อต้องเข้าสู่สภาวะความเป็นจริงแล้วนั้น ครูสามารถออกแบบปรับเปลี่ยนให้แตกต่างกันได้หลากหลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญที่ต้องเน้น คือ จะต้องส่งเสริมเด็กให้เกิดการเรียนรู้ และวินัยในตัวเองเพื่อการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้ได้
วันต่อมา การอบรม “การศึกษาพุทธปัญญา และบทบาทของครูพุทธปัญญา” โดยครูแจ๊ดและครูเปาได้จัดขึ้นอีกครั้ง ในวันนี้เริ่มต้นจากการทบทวนการวิมังสา และการอบรมในครั้งที่ ๑ ถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้ และความรู้สึกที่ได้รับ หลังจากนั้นก็เข้าสู่การอบรม โดยเปิดโอกาสให้คุณครูแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เล่าถึงคำถามที่เด็กๆ และผู้ปกครองมักจะมาปรึกษาคุณครู ปัญหาระหว่างเพื่อนร่วมงานที่มาขอคำแนะนำ นำเสนอด้วยบทบาทสมมติ ปิดท้ายด้วยการช่วยกันวิเคราะห์และสรุป ทำให้พบว่า ไม่ว่าปัญหาจะเกิดกับ เด็ก ครู หรือผู้ปกครอง ส่วนใหญ่แล้วเราจะแก้ด้วยวิธีการรับฟัง ให้กำลังใจ สืบหาสาเหตุ แนะนำ หาที่ปรึกษา ฯลฯ
ครูแจ๊ดและครูเปา จึงได้พาคุณครูมาเรียนรู้เทคนิค “การ Coaching” เพื่อฝึกการคิดเป็นให้กับคุณครู เป็นแนวทางในการใช้ปัญญาแก้ปัญหา และนำวิธีการไปปรับใช้ในการทำงาน
GROW MODEL
G – GOAL : What do you want? : เพื่อค้นหาเป้าหมาย “ต้องการคำตอบหรือต้องการระบาย”R – REALITY : Where are you now? : ที่ผ่านมาทำอะไรไปบ้าง ผลเป็นอย่างไร
O – OPTIONS : What could you do? : คิดวิธีการแก้ปัญหาด้วยตัวเองอย่างน้อย ๕ วีธี ชวนวิเคราะห์ดูว่า หากทำตามวิธีที่คิดไว้แล้วผลจะเป็นอย่างไร
W – WILL : What will you do? : เปิดโอกาสให้เลือก และตัดสินใจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนั้น ถ้าเลือกแบบนี้แล้วจะต้องทำอะไร อย่างไร ให้ใครช่วยบ้าง แล้วผลเป็นอย่างไร และต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นตามมา
“หากเห็นว่าความเป็นกัลยาณมิตรนั้นสำคัญ และมองว่าทุกคนยังไม่เต็ม เราจะไม่เบื่อ และพร้อมที่จะใช้ปัญญา และทำให้ผู้อื่นมีความสามารถในการคิด มีปัญญาที่เป็นที่พึ่งแห่งตน” ดังนั้น การตั้งคำถามในการ Coaching นั้น ต้องแสดงให้เห็นถึงการใช้ “ปัญญา” เห็นความเป็น “พุทธปัญญา” ต้องชี้ชวนให้คิด วิเคราะห์ ให้ได้ด้วยตัวเอง ทำให้ เด็ก ผู้ปกครอง รวมถึงเพื่อนร่วมงาน สามารถเป็นที่พึ่งของตนเองได้ทั้งทางกายและทางใจ
ตลอด ๑ อาทิตย์ที่ผ่านมา กับการอบรมบ่มเพาะครูและบุคลากรของโรงเรียนทอสี มุ่งเน้นให้คุณครูทุกคนเริ่มต้น มองและพัฒนาตัวเองก่อน เพื่อไปสู่การพัฒนาเด็ก จากความรู้ วิธีการ แนวความคิดที่ได้รับจากการอบรมทั้งหมดในครั้งนี้ คุณครูทุกท่านต่างพร้อมที่จะนำไปปรับใช้ ด้วยความกัลยาณมิตร เพื่อให้โรงเรียนทอสีแห่งนี้เป็นโรงเรียนพุทธปัญญาที่เข้มแข็ง และยั่งยืนต่อไป